Lenin, Vladimir Ilyich Ulyanov (1870-1924)

นาย วลาดีมี ร์อิลยิชอูลยานอฟ เลนิน (๒๔๑๓-๒๔๖๗)

​     วลาดีมีร์ อิลยิช อูลยานอฟ เลนิน เป็นผู้นำคนแรกของสหภาพโซเวียตที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๘ นักทฤษฎีการเมืองลัทธิมากซ์ (Marxism)* นักปฏิวัติรัสเซีย เขาร่วมก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Worker’s Party RSDLP)* เป็นผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ซึ่งร่วมมือกับเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* สหายสนิทคนหนึ่งของเขาก่อการปฏิวัติโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลของอะเล็กซานเดอร์ เฟโอโดโรวิช เคเรนสกี (Alexander Feodorovich Kerensky)* ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ได้สำเร็จ เลนินเป็นผู้วางรากฐานอำนาจของรัฐโซเวียตสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (Russian Communist Party)* รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เลนินได้พัฒนาแนวความคิดลัทธิมากซ์ให้ก้าวหน้าด้วยการวิเคราะห์ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่รุนแรงของระบบทุนนิยม และเสริมแนวความคิดว่าด้วยยุทธวิธีการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพและอำนาจเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพจนหลักการลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) กลายเป็นอุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก เลนินจึงได้รับการยอมรับในแวดวงปัญญาชนคอมมิวนิสต์ และที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ว่าเป็นผู้นำการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และเป็นรัฐบุรุษที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์การปฏิวัติ ทั้งเป็นผู้สถาปนารัฐสังคมนิยมรัฐแรกของโลก
     เลนินเกิดในครอบครัวปัญญาชนที่มีฐานะที่เมืองซิมบีสค์ [(Simbirsk) ซึ่งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๙๑ เปลี่ยนชื่อเป็นอูลยานอฟ เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่สกุลอูลยานอฟของเลนิน] บนฝั่งแม่น้ำวอลกา (Volga) เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๘๗๐ เขา เป็นบุตรคนที่ ๓ โดยมีพี่ชาย พี่สาวและมีน้องชายน้องสาวอีก ๓ คน ซึ่งน้องชายคนรองจากเขาเสียชีวิตในวัยเยาว์ นีโคไล อูลยานอฟ (Nikolai Ulyanov) ผู้เป็นบิดามาจากครอบครัวทาสติดที่ดินเป็นครูสอนหนังสือและต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมทำให้มีฐานะร่ำรวยขึ้น เขาเป็นคนหัวเก่าที่ยึดมั่นในจารีตประเพณีและเคร่งศาสนา และมักสอนให้ลูก ๆ เคารพต่อกฎระเบียบและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายส่วนมาเรีย อะเล็กซานดรอฟนา (Maria Alexsandrovna) ผู้เป็นแม่มาจากครอบครัวแพทย์ที่มีฐานะ เธอชอบอ่านหนังสือและเล่นดนตรีทั้งมีความสุขุม อดทน และรู้จักอดออม คุณสมบัติดังกล่าวคือสิ่งที่ถ่ายทอดให้แก่ลูกทุกคน เลนินรักและผูกพันกับมารดามาก มารดาเป็นคนคิดตั้งชื่อให้เขาว่า "วลาดีมีร์" ซึ่งมีความหมายว่าเจ้าเหนือหัวหรือผู้ปกครองโลก
     เลนินเป็นเด็กฉลาด ชอบการแสดงออกและต้องการให้ทุกคนยอมรับความเก่งของเขา เขาเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมที่บ้านเกิดซึ่งบิดาของอะเล็กซานเดอร์เคเรนสกีเป็นครูใหญ่ ครอบครัวของเขาสนิทกับครอบครัวเคเรนสกีมากแต่ในเวลาต่อมาเคเรนสกีเพื่อนวัยเยาว์กลับกลายเป็นศัตรูคนสำคัญของเลนิน เขาเรียนดี ชอบเขียนเรียงความ และรักการอ่านโดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์และวรรณกรรม นักเขียนคนโปรดของเขาคืออีวาน ตูร์เกเนฟ (Ivan Turgenev) เลนินสำเร็จการศึกษาเป็นที่ ๑ ของรุ่นและได้คะแนนเยี่ยมด้านภาษาละตินและกรีกซึ่งเป็นที่คาดหวังกันว่าเขาจะมุ่งเป็นนักวิชาการด้านกรีก-โรมัน แต่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของบิดาใน ค.ศ. ๑๘๘๖ และการที่อะเล็กซานเดอร์พี่ชายที่เขารักและยึดเป็นแบบอย่างถูกจับในปีรุ่งขึ้นด้วยข้อหาคบคิดวางแผนลอบปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๘๙๔)* และถูกประหารด้วยการแขวนคอใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ก็มีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของเลนินและครอบครัวเลนินในวัย ๑๗ ปีจึงต้องเป็นผู้นำของครอบครัวที่ถูกหมายหัวว่าเป็นอาชญากรของรัฐ เพื่อนบ้านและมิตรสหายต่างปฏิเสธที่จะช่วยเหลือและเกี่ยวข้องกับครอบครัวของเขา ปฏิกิริยาจากสังคมรอบตัวทำให้เลนินโกรธแค้นและเริ่มเป็นปรปักษ์ต่อระบบสังคม เมื่อเขาสมัครเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคาซาน (Kazan) ก็ไม่มีใครยอมรับรองความประพฤติของเขาจนทำให้แทบจะหมดโอกาสได้เข้าศึกษาต่อในระดับสูง แต่บิดาของ เคเรนสกีซึ่งทราบเรื่องภายหลังได้เขียนจดหมายรับรองอย่างดีให้ เลนินจึงได้เข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยคาซานซึ่งต่อมาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๙๑ เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยวี.ไอ.เลนินแห่งรัฐ (V.I. Lenin State University) อย่างไรก็ตาม เลนินก็ถูกตำรวจเฝ้ามองและภายในเวลาเพียง ๓ เดือน เขาก็ถูกไล่ออกด้วยข้อกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในกิจกรรมนอกกฎหมายของกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรง เลนินและครอบครัวถูกเนรเทศไปอยู่ที่หมู่บ้านโคคุชคีโน (Kokushkino) บ้านเกิดของมารดาซึ่งห่างจากคาซาน ๓๒ กิโลเมตร
     ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๘๘๘ เลนินได้รับอนุญาตให้กลับมาอยู่ที่คาซานอีกครั้งแต่ไม่สามารถกลับไปศึกษาต่อได้ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาด้วยตนเองและมีโอกาสรู้จักกับกลุ่มศึกษาลัทธิมากซ์ และได้รับการชี้แนะให้อ่านหนังสือการเมืองของเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* 

ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาลัทธิมากซ์รัสเซีย และงานนิพนธ์ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* โดยเฉพาะเรื่องแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* และทุน (Capital)* ในต้น ค.ศ. ๑๘๘๙ เขาก็กลายเป็นผู้เลื่อมใสในลัทธิมากซ์ อย่างไรก็ตาม มารดาของเขาวิตกกังวลที่เห็นเขาหมกมุ่นอยู่กับหนังสือการเมืองรวมทั้งสมาคมกับพวกปัญญาชนปฏิวัติที่ตำรวจคอยจับตามอง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๘๙ เธอจึงตัดสินใจอพยพไปซามารา (Samara) เมืองชายแดนโดยซื้อที่ดินอยู่ที่หมู่บ้านอะลาคาเยฟคา (Alakayevka) ซึ่งห่างจากซามาราไม่มากนัก ครอบครัวเลนินอยู่ที่ซามารากว่า ๔ ปี
     ในช่วงที่อยู่ซามารา เลนินหันมาศึกษาเรื่องกฎหมายอีกครั้งและเดินเรื่องขอให้มีโอกาสสอบวิชากฎหมายหลายหนจนได้รับอนุญาตให้เข้าสอบในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๑ เขาสอบผ่านทุกวิชาและได้รับปริญญาเกียรตินิยม ตำรวจซึ่งเข้าใจว่าเขากลับเนื้อกลับตัวได้ปิดคดีการเมืองของเขา เลนินจึงสอบเป็นทนายและทนายฝึกหัดที่เมืองซามาราระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๑-๑๘๙๓ ในช่วงเวลาเดียวกันเขาก็หันมาสนใจแนวความคิดลัทธิมากซ์อีกครั้งและการเป็นทนายฝึกหัดของเขาก็ปกปิดความเป็นนักปฏิวัติได้อย่างแนบเนียน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ เขาย้ายไปอยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จึงได้มีโอกาสรู้จักและพบรักกับนาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา ครุปสกายา (Nadezhda Konstantinovna Krupskaya)* ซึ่งสอนหนังสือที่โรงเรียนสตรีวันอาทิตย์ภาคค่ำสำหรับคนงาน เลนินทำให้กลุ่มศึกษาลัทธิมากซ์แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเชื่อมั่นในแนวทางปฏิวัติลัทธิมากซ์มากขึ้น และเห็นว่าการก่อการปฏิวัติเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และใกล้จะเกิดขึ้นทุกขณะ
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ กลุ่มปฏิวัติใต้ดินส่งเลนินไปติดต่อกับกลุ่มแกนนำลัทธิมากซ์รัสเซียที่นครเจนีวาสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเขาได้พบกับเหล่านักปฏิวัติอาวุโสคนสำคัญหลายคน เช่น เปลฮานอฟ ปาเวล โบรีโซวิช อัคเซลรอด (Pavel Borisovich Akselrod)* และเวรา ซาซูลิช (Vera Zasulich)* เมื่อกลับมาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เขาร่วมกับนักปฏิวัติลัทธิมากซ์คนอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งยูลี มาร์ตอฟ (Yuli Martov)* ก่อตั้งองค์การลัทธิมากซ์ที่เรียกชื่อว่า สันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน (League of the Struggle for the Liberation of the Working Class) ขึ้นที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสันนิบาตนี้ได้ติดอาวุธทางความคิดลัทธิมากซ์ให้แก่กรรมกรและประสานลัทธิสังคมนิยมเข้ากับขบวนการกรรมกรโดยชี้นำการต่อสู้ทางการเมืองและเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบซาร์และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๕ แกนนำของสันนิบาตเกือบทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเลนินก็ถูกจับกุม เลนินถูกจำคุกกว่า ๑๕ เดือนก่อนจะถูกเนรเทศไปอยู่ที่หมู่บ้านชูเชนสโกเอ (Shushenskoe) ที่ไซบีเรียตอนเหนือเป็นเวลา ๓ ปี ในช่วงติดคุก ครุปสกายาสหายหญิงมาเยี่ยมเขาบ่อยครั้งและทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเลนินกับผู้ปฏิบัติงานองค์การปฏิวัตินอกคุก แต่ต่อมาครุปสกายาก็ถูกจับเป็นครั้งที่ ๒ และถูกตัดสินให้เนรเทศไปที่อูฟา (Ufa) หัวเมืองกันดารในเขตปกครองบัชคีเรีย (Bashkiria) เป็นเวลา ๓ ปี

เลนินได้เขียนจดหมายขอแต่งงานกับเธอ ครุปสกายาจึงได้รับอนุญาตจากทางการในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๘ ให้ไปแต่งงานกับเลนินที่ไซบีเรียและใช้ชีวิตเนรเทศที่ไซบีเรียแทนการไปอยู่ที่อูฟา ครุปสกายาจึงเป็นทั้งสหายและเลขานุการส่วนตัวรวมทั้งคู่ชีวิตที่อยู่เคียงข้างจนเขาสิ้นชีวิต
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๐๐ เป็นช่วงชีวิตคู่อันอบอุ่นและสงบสุขและในเวลาเดียวกันก็เป็นช่วงที่เลนินสร้างชื่อให้ตนเองเป็นที่รู้จักและยอมรับในหมู่นักปฏิวัติที่ต้องโทษในไซบีเรีย เขาเขียนใบปลิวและจุลสารทางการเมืองเป็นจำนวนมากที่มีเนื้อหาปลุกจิตสำนึกทางการเมืองของกรรมกรให้ตระหนักถึงการกดขี่ของระบอบซาร์ และวิจารณ์โจมตีพวกลัทธิมากซ์ติดคัมภีร์ที่เรียกร้องให้กรรมกรและกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายที่เรียกตนเองว่านักสังคมประชาธิปไตย (Social-Democrats) เคลื่อนไหวต่อสู้โดยเน้นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และให้ฝ่ายชนชั้นกระฎุมพีเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เลนินให้ความสำคัญเป็นพิเศษเกี่ยวกับปัญหาของชาวนาและแนวทางการปฏิวัติตามแนวความคิดนารอดนิค (Narodniks)* เขาพยายามชี้ให้เห็นว่าระบบสังคมนิยมที่พวกรัสเซียปอปปูลิสต์พยายามต่อสู้ผลักดันแท้ที่จริงก็คือการพัฒนาของระบบทุนนิยมขนาดเล็กนอกจากนี้ เลนินยังเริ่มศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหาชาวนาจนสามารถเขียนงานเล่มสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมากคือเรื่อง Development of Capitalism in Russia ( ค.ศ. ๑๘๙๙) หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจของรัสเซียโดยชี้ให้เห็นการพัฒนาและขยายตัวของระบบทุนนิยมที่กำลังทำลายคอมมูนชาวนา รวมถึงการเปลี่ยนสถานภาพชาวนาให้กลายเป็นชนชั้นแรงงานหรือกึ่งแรงงาน ขณะเดียวกันเลนินก็แปลหนังสือ Industrial Democracy ของซิดนีย์และเบียทริซ เวบบ์ (Sidney and Beatrice Webb) ปัญญาชนคู่สามีภรรยาว่าด้วยแนวความคิดสมาคมเฟเบียน (Fabian Society)* เลนินรับผิดชอบการประสานงานการติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกับองค์การปฏิวัติทั้งในและนอกประเทศ โดยใช้นามปากกาหลากหลายในการเขียนงานการเมืองแต่ในท้ายที่สุดเขาก็ยึดชื่อ "วี.เลนิน" เป็นนามปากกาเพียงชื่อเดียว
     เมื่อพ้นโทษในต้น ค.ศ. ๑๙๐๐ เลนินเดินทางมาพักอยู่ที่เมืองปสคอฟ (Pskov) ซึ่งไม่ห่างจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมากนักเพื่อติดต่อกับสหายคนอื่น ๆ เนื่องจากเหล่านักโทษที่เพิ่งกลับจากการถูกเนรเทศจะถูกห้ามไม่ให้เดินทางมาอยู่ที่เมืองใหญ่ ๆ รวม ๖๐ เมืองที่เป็นเมืองมหาวิทยาลัยและศูนย์กลางอุตสาหกรรม ในช่วงที่อยู่ที่ปสคอฟ เขาพบกับมาร์ตอฟและอะเล็กซานเดอร์ โปรเตรซอฟ (Alexander Protresov)* นักปฏิวัติอาวุโสเพื่อร่วมกันวางโครงการเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์จะปลูกฝังลัทธิมากซ์ให้แก่นักปฏิวัติและชี้นำแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อมา ในกลางเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ เลนินในวัย ๓๐ ปี ก็เดินทางไปนครเจนีวา เพื่อร่วมทำงานกับเปลฮานอฟในการเตรียมการจัดทำหนังสือพิมพ์การเมืองที่จะใช้ชื่อว่า Iskra หรือ The Spark ซึ่งฉบับปฐมฤกษ์พิมพ์เผยแพร่ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ หลัง Iskra เผยแพร่ได้ไม่กี่ฉบับเลนินได้เสนอทฤษฎีการเมืองเกี่ยวกับการสร้างพรรคปฏิวัติในหนังสือ What is to Be Done? ( ค.ศ. ๑๙๐๒) ซึ่งเสนอแนวความคิดหลักว่าด้วยการปลุกจิตสำนึกทางการเมือง บทบาทและภาระหน้าที่ขององค์การปฏิวัติและแนวทางการสร้างเครือข่ายองค์การปฏิวัติทั่วประเทศ What is to Be Done? ได้กลายเป็นพื้นฐานของแนวความคิดทางการเมืองของพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในเวลาต่อมาและทำให้แผนการดำเนินงานของกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน Iskra ในการสร้างพรรคปฏิวัติที่รวมศูนย์ประสบความสำเร็จ หนังสือพิมพ์ Iskra ที่ถูกลักลอบเข้ามาเผยแพร่ในประเทศมีส่วนทำให้องค์การปฏิวัติที่กระจัดกระจายและมีแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่หลากหลายเริ่มหันมายอมรับความคิดลัทธิมากซ์และมีความเป็นเอกภาพในการเคลื่อนไหวปฏิวัติมากขึ้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๐๓ เลนินยังติดต่อข่ายงานองค์การปฏิวัติในประเทศที่เชื่อมั่นในแนวทางของ Iskra ให้ส่งผู้ปฏิบัติงานพรรคที่เป็นแกนนำมาพบกับเขาที่กรุงลอนดอนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมหารือในการกำหนดแนวทางและยุทธวิธีการต่อสู้ปฏิวัติ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ ศูนย์กลางพรรคที่ซามาราได้ส่งเลออน ตรอตสกีนักปฏิวัติหนุ่มที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์มาพบเลนินที่กรุงลอนดอนและการพบกันครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ผู้แทนองค์การปฏิวัติลัทธิมากซ์และกลุ่มสังคมนิยมต่าง ๆ จัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ของผู้แทนพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมเพื่อก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ตำรวจคอยเฝ้าติดตามผู้เข้าประชุมจนทำให้ต้องย้ายไปประชุมกันต่อที่กรุงลอนดอน ในการประชุมครั้งนี้เลนินมีความคิดเห็นขัดแย้งกับมาร์ตอฟในประเด็นคุณสมบัติของสมาชิกพรรค เลนินเสนอว่าสมาชิกพรรคไม่เพียงต้องยอมรับหลักนโยบายพรรคเท่านั้น แต่ต้องมีส่วนร่วมกิจกรรมในฐานะสมาชิกองค์การใดองค์การหนึ่งของพรรคด้วย อีกทั้งต้องมีคุณสมบัติตามที่พรรคกำหนดส่วนมาร์ตอฟเห็นว่าสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติตามที่พรรคกำหนดหากยอมรับหลักนโยบายพรรคและอยู่ใต้การชี้นำขององค์การใดองค์การหนึ่งของพรรคก็เพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกในสังกัดองค์การพรรคก็ได้ นอกจากนี้ คนทั้งสองยังขัดแย้งเกี่ยวกับการลดจำนวนคณะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Iskra จาก ๖ ให้เหลือเพียง ๓ คน มาร์ตอฟและตรอตสกีต้องการให้คงจำนวนเดิมของคณะบรรณาธิการไว้ แต่เลนินไม่เห็นด้วย ผู้ที่สนับสนุนเลนินซึ่งเป็นเสียงข้างมากจึงได้ชื่อว่าบอลเชวิคส่วนกลุ่มที่สนับสนุนมาร์ตอฟซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยถูกเรียกว่าเมนเชวิค (Mensheviks)* การประชุมใหญ่เพื่อก่อตั้งพรรคขึ้นอย่างเป็นทางการเพียงพรรคเดียวจึงนำไปสู่การเกิดพรรคทั้ง ๒ พรรคอย่างไม่เป็นทางการในที่สุด ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๓-๑๙๑๒ ทั้งพรรคบอลเชวิคและเมนเชวิคต่างเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย แต่ในการประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๖ ที่กรุงปราก (Prague) เชโกสโลวะเกีย ค.ศ. ๑๙๑๒ ที่ประชุมมีมติให้ขับเมนเชวิคออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียเพื่อยุติปัญหาการรวมอยู่ในพรรคเดียวกันในรูปแบบของบอลเชวิคและเมนเชวิค เลนินจึงประกาศว่าพรรคบอลเชวิคซึ่งมีชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า "พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค)" [Russian Social Democratic Worker's Party (Bolsheviks)] เป็นพรรคลัทธิมากซ์ของขบวนการปฏิวัติรัสเซียเพียงพรรคเดียวเท่านั้น
     เมื่อเกิดเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งนำไปสู่การจลาจลทั่วประเทศและเป็นสาเหตุประการหนึ่งของการเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ในเดือนตุลาคม เลนินได้ชี้นำให้องค์การพรรคบอลเชวิคในประเทศปลุกระดมกรรมกรให้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสนับสนุนการก่อตั้งโซเวียตผู้แทนกรรมกร (Soviet of Workers) ขึ้นเพื่อเป็นองค์การปกครองตนเองของกรรมกร ขณะเดียวกันเลนินก็จัดทำหนังสือพิมพ์พรรคชื่อ Vperod (Forward) ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือเผยแพร่แนวนโยบายพรรคและชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมือง เขายังติดต่อบาทหลวงเกออร์กี อะปอลโลโนวิช กาปอน (Georgy Apollonovich Gapon)* ผู้นำการเดินขบวนในวันอาทิตย์นองเลือดซึ่งลี้ภัยอยู่ที่นครเจนีวาให้เข้าร่วมกับพรรคบอลเชวิคด้วยแต่กาปอนไม่สนใจ
     การจัดตั้งโซเวียตผู้แทนกรรมกรตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ และการก่อจลาจลของชาวนาในชนบทรวมทั้งการเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทำให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* หาทางควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมด้วยการประกาศ "คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม" (October Manifesto) ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ โดยทรงสัญญาจะให้มีการเลือกตั้งและให้จัดตั้งสภาดูมา (Duma)* เพื่อปกครองในระบอบประชาธิปไตย เลนินซึ่งกลับเข้าประเทศในเดือนพฤศจิกายนสนับสนุนให้สภาโซเวียตมีบทบาทคานอำนาจของซาร์และต่อต้านการส่งผู้แทนบอลเชวิคเข้ารับการเลือกตั้งในสภาดูมาสมัยแรกเพราะเห็นว่าสภาดูมาเป็นเพียงสถาบันการเมืองที่คอยค้ำจุนบัลลังก์ของซาร์ไว้ ต่อมาเมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงประกาศยุบสภาดูมาและหันมาปราบปรามกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย ตลอดจนเริ่มควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เลนินจึงหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้งโดยกลับไปอยู่ที่นครเจนีวาและกรุงปารีสตามลำดับ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๗-๑๙๑๒ ซึ่งเป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวปฏิวัติรัสเซียซบเซา เลนินพยายามปลุกความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานพรรคและแกนนำกรรมกรด้วยการจัดอบรมทางการเมืองเป็นระยะ ๆ ที่เมืองลงชูโม (Longjumeau) ใกล้กรุงปารีส และพยายามประสานงานเคลื่อนไหวกับกลุ่มบอลเชวิคอื่น ๆ และกลุ่มสังคมนิยมต่าง ๆ ที่ลี้ภัยในประเทศยุโรป ในช่วงเวลาดังกล่าวเลนินได้พบและสนิทสนมกับอีเนสซา เฟโอโดรอฟนา อาร์มันด์ (Inessa Feodorovna Armand)* นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างพรรคบอลเชวิคกับพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของคนทั้งสองเริ่มเป็นที่สังเกตและเป็นที่รับรู้กันในกลุ่มสหายที่ใกล้ชิดกับเลนิน เขายังสนับสนุนอีเนสซาให้มีบทบาทสำคัญในขบวนการสังคมนิยมยุโรปด้วย
     ในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๒ กรรมกรเหมืองทองเลนา (Lena) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียก่อการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงและให้ปรับปรุงสวัสดิการ รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงซึ่งนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของกรรมกรตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เหตุการณ์เหมืองทองเลนาทำให้องค์การปฏิวัติทั้งในและนอกประเทศเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เลนินผลักดันให้ผู้แทนบอลเชวิคในสภาดูมาสมัยที่ ๔ (๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๒ - ๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗) เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจนรัฐบาลต้องยกเลิกการควบคุมสื่อมวลชน บอลเชวิคจึงใช้หนังสือ Pravda ของขบวนการกรรมกรในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเครื่องมือชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมือง เลนินยังย้ายมาอยู่ที่เมืองคราคูฟ (Kraków) ทางโปแลนด์ตอนใต้ในดินแดนออสเตรียซึ่งติดกับชายแดนรัสเซียเพื่อชี้นำและติดตามการเคลื่อนไหวในรัสเซียได้ดีขึ้น เขายังสนับสนุนให้ครุปสกายาจัดทำหนังสือพิมพ์สำหรับผู้หญิงชื่อ Rabotnitsa (Woman Workers) ขึ้นเพื่อปลุกระดมมวลชนสตรีนอกจากนี้เลนินยังให้โจเซฟ สตาลิน (Josepf Stalin)* แกนนำพรรคชาวจอร์เจียเรียบเรียงปัญหาเชื้อชาติเป็นหนังสือเผยแพร่เรื่อง Marxism and the National Question เพื่อชี้ให้เห็นว่าพรรคบอลเชวิคก็ให้ความสำคัญกับชนชาติส่วนน้อยในจักรวรรดิรัสเซียด้วย
     ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Archduke Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและพระชายาทรงถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนียและเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สงครามที่เกิดขึ้นทำให้เลนินซึ่งพักอยู่ในดินแดนศัตรูคู่สงครามของรัสเซียต้องย้ายกลับไปเมืองเบิร์น (Berne) สวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เขาเคลื่อนไหวคัดค้านสงครามและเรียกร้องให้ตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ หรือองค์การโคมินเทิร์นขึ้นแทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ที่ยุบลงเพราะปัญหาความขัดแย้งภายในโดยเสนอให้องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ซึ่งจะก่อตั้งขึ้นเป็นองค์การกลางของขบวนการสังคมนิยมในการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๕ เลนินส่งมัคซิม มัคซีโมวิช ลิวินอฟ (Maksim Maksimovich Litvinov)* เป็นผู้แทนบอลเชวิคเข้าร่วมการประชุมผู้แทนพรรคสังคมนิยมยุโรปที่กรุงลอนดอนเพื่อเรียกร้องให้ชาวพรรคสังคมนิยมเบลเยียม อังกฤษ และฝรั่งเศสถอนตัวออกจากรัฐบาลและยุติการร่วมมือกับรัฐบาลในนโยบายสงครามต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ มีการจัดประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมครั้งแรก (First Socialists International Conference) อย่างลับ ๆ ที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald) หมู่บ้านเล็ก ๆ บริเวณเทือกเขาสวิสซึ่งไม่ห่างจากเมืองเบิร์นเท่าใดนัก วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมคือการรวมตัวกันของผู้แทนพรรคสังคมนิยมยุโรปที่เป็นกลางและรักสันติภาพเพื่อแสดงความเป็นปึกแผ่นทางความคิดในการต่อต้านสงคราม เลนินเสนอให้เคลื่อนไหวเปลี่ยนสงครามจักรพรรดินิยมหรือสงครามโลกครั้งที่ ๑ ให้เป็นสงครามกลางเมืองและผลักดันเรื่องการก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ แต่แนวทางของเลนินไม่เป็นที่ยอมรับของที่ประชุมส่วนใหญ่ กลุ่มที่สนับสนุนเขาซึ่งเรียกชื่อว่ากลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Left) มีเพียง ๘ คน เท่านั้น
     หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งทำให้อำนาจการปกครองของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* สิ้นสุดลง รัสเซียปกครองแบบทวิอำนาจระหว่างสภาโซเวียตกับรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเกออร์กี เยฟเกนเยวิช ลวอฟ (Georgy Yevgenyevich Lvov)* เป็นผู้นำ เลนินชี้นำให้ผู้แทนบอลเชวิคในสภาโซเวียตไม่ให้สนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างสิ้นเชิงและให้ระวังบทบาทของเคเรนสกีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาโซเวียต เขาพยายามหาทางกลับประเทศและได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมันให้เดินทางกลับเข้ารัสเซียโดยขบวนตู้รถไฟปิดที่ใช้เส้นทางผ่านเยอรมนีสวีเดนและฟินแลนด์ เลนินและเหล่าสหายรวม ๑๙ คนไม่ต้องแสดงหนังสือเดินทางหรือถูกซักถามที่พรมแดนและไม่มีใครมาที่ตู้รถไฟปิดที่จัดขึ้นพิเศษครั้งนี้รัฐบาลเยอรมนีหวังว่านักปฏิวัติรัสเซียเหล่านี้จะทำให้สถานการณ์ภายในรัสเซียเลวร้ายมากขึ้นซึ่งอาจทำให้รัสเซียต้องถอนตัวออกจากสงคราม วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธของอังกฤษกล่าวในเวลาต่อมาว่าการส่งเลนินและเหล่าสหายเป็นเสมือนการส่งอาวุธเชื้อโรคเข้าไประบาดในรัสเซีย
     เมื่อกลับเข้าถึงกรุงเปโตรกราดในต้นเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ เลนินในวัย ๔๘ ปีก็ประกาศนโยบายที่จะยึดอำนาจทางการเมืองด้วยวิธีการทุกอย่างเท่าที่จะทำได้และจะโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลโดยใช้สภาโซเวียตเป็นองค์การหลักของการยึดอำนาจ เขาจัดทำแผนปฏิบัติการจากการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมที่เรียกกันว่า "นิพนธ์เดือนเมษายน" (April Theses) และชูคำขวัญว่า "สันติภาพที่ดิน และขนมปัง" และ "คืนอำนาจรัฐทั้งหมดแก่สภาโซเวียต" พรรคบอลเชวิคในเวลาต่อมาก็เห็นชอบกับแนวทางการเคลื่อนไหวตามนิพนธ์เดือนเมษายน ในช่วงที่เลนินเรียกร้องให้รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามและให้เปลี่ยนสงครามในยุโรปเป็นสงครามกลางเมืองเพื่อสร้างเงื่อนไขของการก่อการปฏิวัติอยู่นั้น กองทัพรัสเซียก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามและเริ่มล่าถอยอย่างต่อเนื่อง ความพ่ายแพ้ดังกล่าวเปิดโอกาสให้บอลเชวิคและสภาโซเวียตเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายสงครามของรัฐบาลเฉพาะกาลและให้เปิดเผยสนธิสัญญาลับในสมัยรัฐบาลซาร์ รัฐบาลเฉพาะกาลพยายามควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองด้วยการปรับคณะรัฐมนตรีโดยปลดปาเวล นีโคลาเยวิช มิลยูคอฟ (Milyukov, Pavel Nikolayevich)* ผู้นำพรรคคาเดตส์ (Kadets) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศออก สมาชิกบอลเชวิคปีกซ้ายจึงเรียกร้องให้ยึดอำนาจแก่สภาโซเวียต แต่เลนินไม่เห็นด้วยเพราะตระหนักว่าบอลเชวิคยังไม่เข้มแข็งพอที่จะยึดอำนาจและปกครองประเทศ รัฐบาลเฉพาะกาลจึงเห็นเป็นโอกาสใช้กำลังปราบปรามและปล่อยข่าวว่าเลนินเป็นจารชนที่รับสินบนจากเยอรมนีมาโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล มีการออกประกาศจับเลนินและแกนนำคนสำคัญของบอลเชวิค เลนินจึงปลอมตัวเป็นกรรมกรรถไฟหนีไปฟินแลนด์
     ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ นายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov)* พยายามก่อกบฏเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารขึ้นปกครองประเทศ แต่ประสบความล้มเหลวเพราะเคเรนสกีขอความช่วยเหลือจากสภาโซเวียตให้ต่อต้านได้สำเร็จ หลังการกบฏที่เรียกกันว่ากรณีเรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affairs)* กลุ่มบอลเชวิคมีอิทธิพลและบทบาทในสภาโซเวียตมากขึ้น เลนินจึงเห็นว่าเงื่อนไขการก่อการปฏิวัติสุกงอมพอที่จะยึดอำนาจทางการเมือง เขาเขียนจดหมายถึงคณะกรรมาธิการกลางบอลเชวิคเรียกร้องให้โค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลและเคลื่อนไหวปลุกระดมการลุกฮือด้วยกำลังอาวุธในเปโตรกราดและมอสโกทั้งขู่ที่จะลาออกจากการเป็นผู้นำพรรคหากคณะกรรมาธิการกลางไม่เห็นด้วย ปัญหาการยึดอำนาจกลายเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ชัดเจน คณะกรรมาธิการกลางพรรคจึงขอให้เลนินกลับมากรุงเปโตรกราดเพื่อหาข้อสรุป ต่อมาระหว่างวันที่ ๓-๑๐ ตุลาคมในวันใดวันหนึ่งเลนินเดินทางกลับเข้ารัสเซียและยืนกรานให้มีการลุกฮือด้วยกำลังอาวุธเพื่อยึดอำนาจก่อนวันเปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ ซึ่งกำหนดไว้เป็นวันที่ ๒๕ ตุลาคม นอกจากนี้ เลนินยังกำหนดให้คณะกรรมาธิการปฏิวัติทหาร (Military Revolutionary Committee) ที่จัดตั้งขึ้นโดยมีตรอตสกีเป็นผู้นำเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเปโตรกราดและประสานงานกับกองกำลังทหารหน่วยต่าง ๆ ในการป้องกันกรุงเปโตรกราดจากการโจมตีของเยอรมนีและฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ เลนินเห็นด้วยกับตรอตสกีที่จะเข้ายึดอำนาจในนามของสภาโซเวียตโดยชูคำขวัญว่า "คืนอำนาจรัฐทั้งหมดแก่สภาโซเวียต"
     อย่างไรก็ตาม ข่าวการเตรียมยึดอำนาจก็แพร่งพรายไปสู่สาธารณชนเพราะเลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev)* และกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* แกนนำคนสำคัญซึ่งไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจเปิดเผยเรื่องดังกล่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ มาร์ตอฟก็ต่อต้านและเรียกร้องให้ยึดอำนาจด้วยแนวทางสันติตามวิถีของระบบรัฐสภา รัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งทราบข่าวการยึดอำนาจได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีฝ่ายปฏิวัติก่อนซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคม(October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ฝ่ายปฏิวัติก็บุกโจมตีพระราชวังฤดูหนาวและล้อมจับคณะรัฐบาลได้เกือบหมดเคเรนสกีสามารถหลบหนีได้อย่างหวุดหวิด บอลเชวิคสามารถยึดอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จโดยมีการนองเลือดเพียงเล็กน้อย เลนินได้ประกาศสร้างสังคมรัสเซียใหม่ในแนวทางลัทธิมากซ์ตามที่เขาใฝ่ฝัน คือการปกครองในระบบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ขึ้น
     หลังการยึดอำนาจทางการเมืองมีการจัดตั้งคณะรัฐบาลโซเวียตชุดแรกขึ้น คือ คณะมนตรีคอมมิซซาร์ประชาชน (Soviet Council of People's Commissars) โดยเลนินเป็นผู้นำ เลนินได้เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัสเซียเผชิญอยู่ คือการถอนตัวออกจากสงครามและแก้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลโซเวียตได้ออกกฤษฎีกาสันติภาพ (Decree on Peace) และกฤษฎีกาที่ดิน (Decree on Land) ตลอดจนออกประกาศ คำสั่งและกฤษฎีกาฉบับต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเพื่อชี้นำแนวนโยบายและขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นหลักปฏิบัติในการสร้างระบอบสังคมนิยม เลนินซึ่งตระหนักถึงภัยที่คุกคามอำนาจรัฐโซเวียตยังจัดตั้งเชกา (CHEKA)* หรือหน่วยตำรวจลับขึ้นเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้ามและสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชนรวมทั้งเป็นเครื่องมือเสริมอำนาจการปกครองของบอลเชวิคให้มั่นคง ขณะเดียวกันในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เลนินก็ให้ยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) ด้วยข้ออ้างว่าผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งผู้แทนฝ่ายบอลเชวิคได้รับเลือกน้อยกว่าพรรคการเมืองสังคมนิยมอื่น ๆ ไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชน กลุ่มสังคมนิยมในประเทศยุโรปตะวันตกต่างวิจารณ์โจมตีเลนินและรัฐบาลโซเวียตอย่างรุนแรงในการทำลายหลักการของประชาธิปไตย และการสถาปนาอำนาจเผด็จการขึ้นปกครองประเทศ
     หลังการยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลโซเวียตได้ประกาศเปลี่ยนรูปการปกครองของรัสเซียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federative Socialist Republic - RSFSR) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตซึ่งต่อมาในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๒ ก็มีการเปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต(Union of Soviet Socialist Republic - USSR)* ในช่วงเวลาเดียวกันเลนินก็เปิดการเจรจาเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนีโดยเรียกร้องการทำสนธิสัญญาโดยปราศจากเงื่อนไขแต่เยอรมนีไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของรัฐบาลโซเวียต และขณะเดียวกันก็เริ่มบุกรัสเซีย รัฐบาลโซเวียตในท้ายที่สุดต้องเปิดการเจรจากับเยอรมนีใหม่และเลนินได้ยื่นคำขาดแก่สมาชิกพรรคว่าหากมีการต่อต้านการทำสนธิสัญญาสันติภาพเขาจะลาออกคณะรัฐบาลและคณะกรรมการกลางพรรค คำขู่ของเลนินได้ผลและนำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค(Brest-Litovsk Treaty)* ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้วิกฤตการณ์ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โซเวียตสมัยแรกสิ้นสุดลงและทำให้รัฐบาลโซเวียตมีเวลาตั้งตัวเพื่อรวบรวมกำลังในการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ หลังการลงนามสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ เลนินแต่งตั้งเกออร์กี วาซีเลวิช ชิเชริน (Georgi Vasilevich Chicherin)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแทนตรอตสกีซึ่งลาออกไปดูแลการดำเนินงานของกองทัพแดง (Red Army)*
     แม้รัสเซียจะถอนตัวออกจากสงครามโลกได้สำเร็จ แต่การเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑ ที่สืบเนื่องจากการแทรกแซงด้วยกำลังของมหาอำนาจสัมพันธมิตรในการสนับสนุนกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวที่อยู่ใต้การบัญชาการของนายพลอันตอน เดนีกิน (Anton Denikin)* ทำให้เลนินตัดสินใจกำจัดพระราชวงศ์ หน่วยเชกาแห่งเอคาเตรินบุร์ก (Ekaterinburg) จึงปลงพระชนม์ซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระราชวงศ์ทั้งหมดในกลางดึกของคืนวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ นอกจากนี้เลนินยังให้สร้างค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* ขึ้นในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อกักขังศัตรูทางการเมืองและฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ และประกาศใช้นโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism)* เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมตาม

แนวทางคอมมิวนิสต์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในต้นเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เลนินก็ผลักดันการจัดการประชุมใหญ่ครั้งแรกขององค์การคอมมิวนิสต์สากล (First Congress of the Communist International) ขึ้นที่กรุงมอสโกได้สำเร็จ และนำไปสู่การจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ขึ้นอย่างเป็นทางการ องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ทำหน้าที่เป็นองค์การกลางของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลเพื่อประสานงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกและเพื่อผลักดันการก่อการปฏิวัติตามแบบรัสเซีย
     ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เลนินถูกสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* ปีกขวาลอบสังหารในขณะที่เขาไปร่วมในงานชุมนุมของกรรมกรโรงงานมีเฮลซัน (Mikhelson) ในกรุงมอสโก แม้เลนินจะรอดชีวิตแต่ก็บาดเจ็บสาหัสและกระสุนปืนทับเส้นประสาทซึ่งต่อมามีส่วนทำให้เขาเป็นอัมพาต พรรคบอลเชวิคจึงใช้สถานการณ์ดังกล่าวกวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยการประกาศว่าการลอบยิงเลนินเป็นแผนของฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติที่พรรคเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติมีส่วนรู้เห็น พรรคการเมืองทั้งสองจึงถูกขับออกจากสภาโซเวียตและถูกกวาดล้างในที่สุด เฟลิกซ์ เอดมุนโดวิช ดเซียร์จินสกี (Felix Edmundovich Dzerzhinsky)* หัวหน้าเชกาจึงเห็นเป็นโอกาสออกกฎหมายว่าด้วยการใช้มาตรการรุนแรงหลายฉบับเพื่อกวาดล้างประชาชนทุกระดับชั้นของสังคมที่ถือเป็นศัตรูของการปฏิวัติและนำไปสู่สมัยความน่าสะพรึงกลัวของคอมมิวนิสต์ (Red Terror) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑ นอกจากนี้เลนินยังเนรเทศ ปัญญาชนชั้นนำที่ต่อต้านบอลเชวิคออกนอกประเทศจำนวนมาก และยังวางมาตรการลงโทษปัญญาชนด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ทหารเรือและกลาสีประจำฐานทัพเรือครอนชตัดท์ (Kronstadt) บนเกาะโคติน (Kotin) บริเวณอ่าวฟินแลนด์ ซึ่งทราบข่าวการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงของรัฐบาลในนครเปโตรกราดในปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้ก่อกบฏขึ้นต่อต้านรัฐบาลโซเวียตและเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง เลนินกล่าวหาว่ากบฏครอนชตัดท์  (Kronstadt Revolt)* เป็นแผนของฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติซึ่งต้องการโค่นอำนาจรัฐบาลโซเวียต และส่งมีฮาอิล คาลีนิน (Mikhail Kalinin)* เป็นผู้แทนรัฐบาลโซเวียตมาเจรจาให้ฝ่ายกบฏยอมจำนนแต่ประสบความล้มเหลว ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ ๑๐ ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ มีนาคม เลนินสั่งให้เร่งปราบปรามกบฏครอนซตัดท์อย่างเด็ดขาดและขณะเดียวกันก็ห้ามสมาชิกพรรครวมตัวเป็นกลุ่มหรือฝ่าย ผลสำคัญของกบฏครอนชตัดท์คือนานาประเทศหน่วงเหนี่ยวเวลาที่จะยอมรับสถานภาพของสหภาพโซเวียตในประชาคมโลก เลนินจึงประกาศยกเลิกระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามและกำหนดใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy-NEP)* ขึ้นเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำจากสงครามกลางเมือง
     ระบบเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นจากนโยบายเนปกอปรกับเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงมากขึ้น ทำให้เลนินเห็นความจำเป็นที่จะปรับรูปแบบการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียกับสาธารณรัฐต่าง ๆ ด้วยการรวมเข้าด้วยกันก่อตั้งเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตหรือสหภาพโซเวียตขึ้น โดยแต่ละสาธารณรัฐมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกันและต่างมีสิทธิแยกตัวออกจากสหภาพ แนวความคิดเรื่องสหภาพโซเวียตของเลนินเป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการกลางพรรคและนำไปสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพโซเวียตขึ้นต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ที่ประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตสมัยที่ ๒ (Second Congress of Soviet of the Union of the Soviet Socialist Republics) ก็ให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ ค.ศ ๑๙๒๔ ซึ่งใช้บังคับจนถึง ค.ศ. ๑๙๓๖ ในช่วงเวลาที่ ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญนั้น เลนินก็ให้ความสำคัญกับการสร้างงานศิลปวัฒนธรรมแนวสังคมนิยมเพื่อให้การศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับระบอบสังคมนิยมและอุดมการณ์พรรค แนวความคิดของเลนินจึงเป็นที่มาของการสร้างงานศิลปะและวัฒนธรรมโซเวียตซึ่งเรียกกันต่อมาว่าศิลปะสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism) อะนาโตลี วาซีเลียวิช ลูนาชาร์สกี (Anatoly Vasilyevich Lunacharsky)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนแรกสหภาพโซเวียตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๗-๑๙๒๙ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวความคิดของเลนินให้บรรลุผลสำเร็จและช่วงการบริหารงานของเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองแห่งศิลปวัฒนธรรมโซเวียตด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เลนินเริ่มล้มป่วยและต้องไปพักฟื้นสุขภาพในชนบทที่ เมืองกอร์กี (Gorki) ตามคำแนะนำของแพทย์ ในช่วงเวลาดังกล่าวสตาลินจะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเลนินกับโปลิตบูโรและเป็นผู้สรุปผลการดำเนินงานต่าง ๆ รวมทั้งบอกเล่าข่าวเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้เลนินทราบ บทบาทของสตาลินดังกล่าวมีส่วนทำให้เลนินเสนอแต่งตั้งเขาเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ เพราะเห็นว่าสตาลินบริหารจัดระบบงานธุรการได้เนื่องจากมีความละเอียดรอบคอบและสามารถติดต่อประสานงานกับองค์การพรรคระดับต่าง ๆ ได้ดี ในเวลาต่อมาสตาลินจึงใช้ตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคให้เป็นประโยชน์ด้วยการวางฐานอำนาจทางการเมืองของเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเลนินเกิดอาการภาวะสมองขาดเลือด (stroke) เป็นครั้งแรกในปลายเดือนพฤษภาคมซึ่งทำให้พูดไม่ได้และแขนกับขาข้างซ้ายเป็นอัมพาต เขาต้องถอนตัวออกจากการเป็นผู้นำพรรคและรัฐ และแทบจะไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะอีก สตาลินจึงเห็นเป็นโอกาสรวมอำนาจการบริหารมาไว้ที่เลขาธิการใหญ่และแต่งตั้งบุคคลที่สนับสนุนเขา ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์การบริหารพรรคระดับต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นและภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เลนินก็ตระหนักถึงแผนการสร้างอำนาจของสตาลินและพยายามชัดขวางด้วยการเสนอให้ตรอตสกีเป็นรองนายกรัฐมนตรีเพื่อควบคุมอำนาจแทนเขา แต่ตรอตสกีปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง
     ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ เลนินป่วยด้วยอาการสมองขาดเลือดเป็นครั้งที่ ๒ โปลิตบูโรและคณะแพทย์จึงห้ามเขาเด็ดขาดไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับงานทางการเมือง แต่เลนินก็พยายามหาทางคานอำนาจสตาลินด้วยการมีบันทึกถึงคณะกรรมการกลางพรรคชี้แนะถึงภัยที่คุกคามพรรคและเสนอแนวทางแก้ไขด้วยการให้ขยายอำนาจของคณะกรรมการกลางพรรคและเพิ่มจำนวนสมาชิกคณะกรรมการกลางจาก ๒๗ คน เป็น ๕๐ คน หรือ ๑๐๐ คน ขณะเดียวกันเลนินก็มีบันทึกอีก ๑ ฉบับเน้นการสร้างเสถียรภาพภายในพรรคเพื่อป้องกันการแตกแยกเป็นกลุ่มและฝ่าย ทั้งให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติแกนนำพรรคแต่ละคน เลนินเรียกร้องให้ปลดสตาลินออกจากตำแหน่งเลขาธิการและ เสนอให้แต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมกว่าให้ดำรงตำแหน่งแทน บันทึกของเลนินระหว่างวันที่ ๒๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ถึงวันที่ ๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ซึ่งต่อมาเรียกรวมกันว่า "พินัยกรรมเลนิน" (Lenin’s Testament) กลายเป็นเอกสารสำคัญทางการเมืองที่สะท้อนความกังวลของเลนินเกี่ยวกับความมั่นคงของพรรคและปัญหาความเป็นอริระหว่างสตาลินกับตรอตสกีที่จะนำไปสู่การแตกแยกของพรรค ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๖ นีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Krushchev)* ได้ใช้พินัยกรรมเลนินอ้างเป็นหลักฐานในการโจมตีสตาลินและดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (Destalinization)*
     ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ เลนินเกิดอาการสมองขาดเลือดเป็นครั้งที่ ๓ และอาการของเขาทรุดหนักลงทุกขณะ ในปลายเดือนตุลาคมสตาลินเรียกประชุมโปลิตบูโรเป็นวาระพิเศษและเสนอความคิดที่จะเก็บรักษาศพของเลนินไว้แต่ตรอตสกีและนีโคไล บูฮาริน (Nikolai Bukharin)* รวมทั้งคาเมเนฟคัดค้านอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเลนินถึงแก่อสัญกรรมในเย็นวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ที่บ้านพักในเมืองกอร์กีซึ่งห่างจากกรุงมอสโกประมาณ ๓๕ กิโลเมตร รวมอายุได้ ๕๓ ปี ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคมีมติเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ให้เก็บดองศพเลนินไว้เพื่อจะใช้ศพเลนินเป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์ปฏิวัติและศูนย์รวมจิตใจทั้งของชาวโซเวียตและผู้ที่ศรัทธาเชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก รวมทั้งต้องการสร้างลัทธิบูชาเลนิน (Lenin Cult) ขึ้น เพื่อให้เลนินมีสถานภาพเป็นนักบุญวลาดีมีร์แห่งการปฏิวัติเดือนตุลาคม (Cult of Saint Vladimir of the October Revolution) เพราะตามหลักศาสนาของนิกายรัสเซียออร์ทอดอกซ์เชื่อว่ามีเพียงนักบุญเท่านั้นที่ร่างกายไม่เน่าเปื่อย
     หลังอสัญกรรมของเลนิน รัฐบาลโซเวียตได้เปลี่ยนชื่อนครเปโตรกราดเป็นเลนินกราด [ (Leningrad- แต่หลังสหภาพโซเวียตล่มใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็เปลี่ยนเป็นชื่อ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg)] เพื่อเป็นเกียรติแก่เลนินทั้งโหมการรณรงค์สร้างแนวความคิดลัทธิบูชาเลนินขึ้น เพื่อสร้างเลนินให้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจในการพิทักษ์คุ้มครองพรรคและเป็นเสมือน "ผู้นำที่ เป็นผู้วิเศษ" (mystical leader) ที่ยังคงชี้นำและปกป้องพรรคให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงต่อไป มีการจัดตั้งสถาบันเลนิน (Lenin Institute) ขึ้นซึ่งต่อมาคือสถาบันลัทธิมากซ์-เลนิน (Institute of Marxism-Leninism) เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่แนวความคิดลัทธิเลนินที่เสริมและพัฒนาทฤษฎีลัทธิมากซ์ให้ลุ่มลึกและก้าวหน้ามากขึ้นรวมทั้งเผยแพร่ข้อเขียนของเลนิน (Lenin Collections) และสรรนิพนธ์เลนิน (Lenin Collected Works) ให้ แพร่หลายไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสถาบันสมอง (Institute of Brain) ขึ้นที่กรุงมอสโกเพื่อศึกษาวิจัยสมองของเลนินซึ่งมีน้ำหนัก ๑,๓๔๐ กรัม และชิ้นส่วนสมองของเลนินกว่า ๓๐,๐๐๐ ชิ้นถูกนำมาวิจัยเพื่อค้นหา ความเป็นอัจฉริยะของเขา ต่อมาสถาบันสมองก็ยังวิจัยสมองของผู้นำพรรคและปัญญาชนปฏิวัติคนสำคัญอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ในต้นทศวรรษ ๑๙๖๐ มีการส่งรูปถ่ายวัยเด็กของเลนินไปไว้ในอวกาศเพื่อให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล
     หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. ๑๙๙๑ การเก็บรักษาศพเลนินที่สุสานเลนิน (Lenin Mausoleum) บริเวณจัตุรัสแดงในกรุงมอสโกกลายเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ซึ่งมีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* เป็นผู้นำ เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในขณะที่รัสเซียก็ตกอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ ข้อโต้แย้งเรื่องศพของเลนินที่ว่าควรจะนำไปฝังหรือไม่ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนแม้ประชาชนจำนวนมากเห็นว่าควรฝังศพเลนินแต่ปัญหาดังกล่าวยุติลงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๑ เมื่อประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)* ผู้นำสหพันธรัฐรัสเซียที่สืบต่อจากเยลต์ซินมีมติให้ยังคงเก็บรักษาศพเลนินไว้เพราะเลนินคือสัญลักษณ์สำคัญของประวัติศาสตร์โซเวียตในช่วงสมัยการปกครองระบอบสังคมนิยม.



คำตั้ง
Lenin, Vladimir Ilyich Ulyanov
คำเทียบ
นาย วลาดีมี ร์อิลยิชอูลยานอฟ เลนิน
คำสำคัญ
- พินัยกรรมเลนิน
- บูฮาริน, นีโคไล อีวาโนวิช
- ครุชชอฟ, นีกีตา เซียร์เกเยวิช
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- ลูนาชาร์สกี, อะนาโตลี วาซีเลียวิช
- สมัยความน่าสะพรึงกลัวของคอมมิวนิสต์
- นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป
- ดเซียร์จินสกี, เฟลิกซ์ เอดมุนโดวิช
- คาลีนิน, มีฮาอิล อีวาโนวิช
- โคติน, เกาะ
- กอร์กี, เมือง
- กบฏครอนช์ตัดท์
- หน่วยเชกาแห่งเอคาเตรินบุร์ก
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
- เดนีกิน, อันตอน อีวาโนวิช
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- ชิเชริน, เกออร์กี วาซีเลวิช
- เลนิน, วลาดีมีร์ อิลยิช อูลยานอฟ
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- ตรอตสกี, เลออน
- ซิมบีสค์, เมือง
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์ เฟโอโดโรวิช
- พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- วอลกา, แม่น้ำ
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิมากซ์-เลนิน
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การโคมินเทิร์น
- อะเล็กซานดรอฟนา, มาเรีย
- ซามารา
- ตูร์เกเนฟ, อีวาน
- อูลยานอฟ, นีโคไล
- แถลงการณ์คอมมิวนิสต์
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี
- ทุน
- มากซ์, คาร์ล
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓, ซาร์
- ซาซูลิช, เวรา
- ครุปสกายา, นาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา
- บัชคีเรีย, เขตปกครอง
- สันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน
- มาร์ตอฟ, ยูลี
- นารอดนิค
- อูฟา, เมือง
- อัคเซลรอด, ปาเวล โบรีโซวิช
- สมาคมเฟเบียน
- โปรเตรซอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- กาปอน, เกออร์กี อะปอลโลโนวิช,บาทหลวง
- คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- ปราก, กรุง
- เมนเชวิค
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย(บอลเชวิค)
- สภาดูมา
- เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด
- คราคูฟ, เมือง
- ซิมเมอร์วัลด์
- ลงชูโม, เมือง
- ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์, อาร์ชดุ๊ก
- ลิวีนอฟ, มัคซิม มัคซิโมวิช
- สตาลิน, โจเซฟ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- อาร์มันด์, อีเนสซา เฟโอโดรอฟนา
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ
- กลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- คอร์นีลอฟ, ลาฟร์
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- พรรคคาเดตส์
- นิพนธ์เดือนเมษายน
- มิลยูคอฟ, ปาเวล นีโคลาเยวิช
- โรมานอฟ, ราชวงศ์
- ลวอฟ, เกออร์กี เยฟเกเนียวิช, เจ้าชาย
- กฤษฎีกาที่ดิน
- กฤษฎีกาสันติภาพ
- คณะมนตรีคอมมิซซาร์ประชาชน
- เชกา
- คาเมเนฟ, เลฟ
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- โซเวียตรัสเซีย, สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยม
- ค่ายกักกันแรงงาน
- กองทัพแดง
- ลัทธิบูชาเลนิน
- เลนินกราด, นคร
- ปูติน, วลาดีมีร์
- เยลต์ซิน, บอริส
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1870-1924
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๓-๒๔๖๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf